คุณสมบัติของผ้าบุเฟอร์นิเจอร์ที่ดี
  • ผ้าบุเฟอร์นิเจอร์จำเป็นต้องรับน้ำหนักผู้ใช้งานและมีการเสียดสีของตัวผ้าอยู้เป็นประจำ ฉะนั้นเนื้อผ้าควรที่จะมีความหนา และ ยืดหดตัวได้ดี
  • เนื้อผ้าที่กันป้องกันน้ำซึมผ่านได้ จะช่วยป้องกันการเกิดเชื้อรา ที่เกิดจากน้ำซึมไปยังฟองน้ำ
  • ควรจะเลือกเนื้อผ้าที่ง่ายต่อการทำความสะอาด
  • ผิวสัมผัสของผ้าอ่อนนุ่ม ไม่ระคายเคืองผิวหนัง
  • สามารถซักได้หรือไม่ หรือ ใช้วิธีอะไรในการทำความสะอาด

ฉลากผ้า - สิ่งสำคัญก่อนตัดสินใจเลือก

ตัวอย่างฉลากผ้า

ตัวอย่างฉลากผ้า

สำหรับผ้าบุเฟอร์นิเจอร์ ของบริษัทต่างๆ มักจะมีฉลากที่มีข้อมูลสำคัญ ต่อการเลือกผ้าบุเฟอร์นิเจอร์ เราจะมาดูกันว่าบนฉลากทั่วไปจะระบุข้อมูลอะไรกันบ้าง

1. ชื่อรุ่นของผ้าบุ

2. Repeat : ความกว้างและยาวของแพตเทิร์น 1 ชุด ทั้งแนวตั้งและแนวนอน ช่วยให้เราสามารถคาดคะเนการวางผังลวดลายบนพื้นผิวเฟอร์นิเจอร์ที่ต้องการบุ และจำนวนผ้าที่ต้องใช้งานได้แบบคร่าว ๆ

3. Usable Fabric Width: หน้ากว้างของผ้า สำหรับใช้คำนวณขนาดของผ้าก่อนนำไปใช้งาน ทั้งยังมีผลกับรอยต่อ หากผ้ามีขนาดพอดีกับพื้นผิว ผลงานก็จะออกมาดูสวยงามสุดเนี้ยบไร้รอยต่อ

4. Composition : ส่วนผสมของเนื้อผ้า มีทั้งเส้นใยชนิดเดียว และผสมกันหลายชนิด เพื่อรวบรวมจุดเด่นของเส้นใยแต่ละชนิดเข้าด้วยกันในผ้าผืนเดียว

5. Care Instructions : สัญลักษณ์สากลสำหรับการดูแลรักษาเนื้อผ้าแต่ละชิ้น

6. End Use : ผ้าชิ้นนั้นเหมาะนำไปใช้กับงานประเภทไหนบ้าง เช่น ใช้สำหรับบุเฟอร์นิเจอร์อย่างเดียว หรือเป็นได้ทั้งผ้าม่าน และผ้าบุ

7. Martindale Abrasion / Abrasion Resistance หรือ Double Rub Count : ค่าความทนทานของเนื้อผ้าในส่วนที่ต้องสัมผัสกับสรีระผู้ใช้งานโดยตรง นับจากจำนวนครั้งที่ต้องเสียดสีไปมา ทดสอบโดยมีเครื่องจักรถูลงบนผืนผ้า ผ้าบุสำหรับใช้งานในบ้าน ควรมีค่านี้มากกว่า 25,000 ครั้ง ส่วนงานผ้าบุสำหรับใช้งานสาธารณะ ควรมีค่านี้มากกว่า 100,000 ครั้ง

8. Upholstery Grade : แบ่งเกรดออกเป็นช่วงตามค่าการทดสอบความทนทานเพื่อให้เข้าใจง่าย ดังนี้

  • 6,000-15,000 ครั้ง ทนทานน้อย ไม่เหมาะนำมาทำผ้าบุเฟอร์นิเจอร์
  • 20,000-25,000 ครั้ง ทนทาน เหมาะกับงานบุเฟอร์นิเจอร์ภายในบ้าน แต่อาจไม่เหมาะกับงานกลางแจ้ง
  • 30,000-50,000 ครั้ง ทนทานมาก เหมาะกับงานบุเฟอร์นิเจอร์ทั้งภายในบ้าน และงานกลางแจ้ง

9. คุณสมบัติพิเศษอื่นๆ

  • Water Repellent กันน้ำได้
  • Flame Retardation เคลือบสารป้องกันไฟลาม
  • Fade Resistance ค่าความทนทานต่อการซีดจาง ค่ามาตรฐานอยู่ระหว่าง 1-5 ตัวเลขยิ่งมาก ยิ่งทนทาน ไม่ซีดจางง่าย
  • Thread Count ค่าความหนาแน่นของการทอ นับจากจำนวนเส้นด้ายต่อพื้นที่ 1 ตารางนิ้ว ตัวเลขยิ่งมาก เนื้อผ้าก็ยิ่งหนาแน่น และทนทานมาก

 

ชนิดของผ้า

เกณฑ์การจำแนกผ้ามีหลากหลายแบบ ทั้งตามพื้นที่ใช้งาน ลักษณะเส้นใย และรูปแบบการทอ ในที่นี้เราจะแบ่งหมวดหมู่ตามรูปลักษณ์ของผ้าตามพื้นที่ใช้สอย แบ่งได้เป็นผ้าบุสำหรับใช้งานภายในบ้าน ภายนอกบ้าน และหนังเทียม

1. Indoor Upholstery ผ้าบุที่เหมาะจะใช้กับเฟอร์นิเจอร์ภายในบ้าน รวมถึงการบุผนัง/หัวเตียง  โดยผ้าหนึ่งชิ้นอาจประกอบขึ้นจากเส้นใยเดียวกันทั้งหมด หรืออาจดึงความโดดเด่นจากเส้นใยหลายชนิดมาไว้รวมกันก็ได้

    ประเภท-ตัวอย่างของเส้นใยผ้าประเภท Indoor

  • 100% Cotton หรือฝ้าย : เส้นใยจากธรรมชาติแท้ ๆ มีผิวสัมผัสนุ่มสบาย ทนทาน ไม่ซีดจาง และไม่เป็นขุยง่าย แถมยังระบายอากาศได้ดี แต่มีข้อเสียมักชอบหดตัว ซักแล้วสีซีดจาง และขึ้นราง่าย จึงควรใช้งานในพื้นที่แห้งไม่เปียกชื้น
  • 100% Polyester หรือเส้นใยสังเคราะห์พอลิเอสเตอร์ : มีข้อดีคือเนื้อผ้ามีความยืดหยุ่น ไม่ยับง่าย คงรูปร่างได้ดี และทนการเสียดสีระหว่างใช้งาน มีข้อเสียระบายอากาศได้น้อยไปสักหน่อย
  • 72% Polyester 28% Cotton : ผสมเส้นใยสังเคราะห์พอลิเอสเตอร์เข้าไปในผ้าฝ้าย เพื่อความคงรูปและมีการใช้งานที่ทนทานขึ้น โดยยังคงผิวสัมผัสที่นุ่มละมุนแบบผ้าฝ้ายไว้เหมือนเดิม
  • 20% Acrylic + 80% Polyester : ผสมเส้นใยสังเคราะห์พอลิเอสเตอร์เข้ากับผ้าอะคริลิก โดดเด่นที่ผิวสัมผัสนุ่มนวล และมีความมันเงาคล้ายขนสัตว์
  • 40% Viscose + 35% Cotton + 25% Polyester : วิสโคส หรือเรยอน (Rayon) คือ เส้นใยกึ่งสังเคราะห์จากเซลลูโลสพืช มีน้ำหนัก ทิ้งตัวได้ดี ผสานกับพื้นผิวนุ่มนวลของผ้าฝ้าย และความทนทานของพอลิเอสเตอร์
  • 67% Acrylic + 22% Polyester + 11% Viscose : ผสานพื้นผิวที่สวยงามจากเส้นใยอะคริลิก เข้ากับความทนทานของพอลิเอสเตอร์ และการทิ้งตัวได้ดีของวิสโคส

2. Outdoor Upholstery ผ้าบุี่เหมาะใช้งานภายนอก เช่น บริเวณสวน สระว่ายน้ำ ระเบียง โดยผ้าพวกนี้มักจะมีคุณสมบัติที่กันน้ำ - ทนต่อแสงยูวีที่เป็นตัวทำให้สีผ้าซีดได้ง่าย

    ประเภท-ตัวอย่างของเส้นใยผ้าประเภท Outdoor 

  • 100% Polypropylene : เส้นใยพอลิเมอร์สังเคราะห์ที่คงรูป ทนความร้อน และการใช้งานหนัก ๆ ได้เป็นอย่างดี จึงเหมาะใช้บุเฟอร์นิเจอร์ภายนอก
  • 100% Polyester : ทนทานด้วยเส้นใยสังเคราะห์พอลิเอสเตอร์ และเคลือบสารกันน้ำ เพื่อเพิ่มคุณสมบัติพิเศษสำหรับใช้ภายนอก

3. Artificial Leather ทางเลือกสำหรับผู้ชื่นชอบความเป็นธรรมชาติ ด้วยเท็กซ์เจอร์ของผ้าทำเลียนแบบลวดลายหนังสัตว์

  • 100% Polyester : เส้นใยสังเคราะห์พอลิเอสเตอร์ ทำพื้นผิวเลียนแบบหนังสัตว์ เพื่อให้ดูหรูหรา อีกทั้งยังดูแลรักษาง่ายกว่าการใช้หนังแท้

หลังจากที่เพื่อนๆ ได้เรียนรู้จักวิธีการเลือกผ้าบุเฟอร์นิเจอร์ และ ผ้าชนิดต่างๆแล้ว ก็ลองนำไปประยุกต์ใช้กันดูตามความเหมาะสมนะครับ